วุฒิสภา มีอำนาจหน้าที่อะไรบ้างในการทำงาน

senate-pic

แม้ว่าบ้านเราจะห่างหายจากการเลือกตั้งมานานพอสมควร แต่เรื่องราวของการเมืองก็ยังร้อนแรงอยู่เป็นระยะ หนึ่งในกลไกสำคัญของการเมืองไทยนั่นก็คือ วุฒิสภา หรือ สภาสูงนั่นเอง กลไกลตรงนี้มีหน้าที่สำคัญเพื่อถ่วงดุลอำนาจด้านอื่นไม่ให้มากเกินไปด้วย มาทบทวนกันหน่อยว่า วุฒิสภามีอำนาจหน้าที่ทำอะไรบ้างในปัจจุบัน

อำนาจด้านกฎหมาย

อำนาจและหน้าที่อันสำคัญอย่างมากของ วุฒิสภา นั่นคืออำนาจด้านนิติบัญญัติแปลเป็นไทยได้ว่า การวินิจฉัยข้อกฎหมายนั่นแหละ วุฒิสภามีหน้าที่กลั่นกรอง ทบทวน เห็นชอบหรือยับยั้งกฎหมายต่างๆที่เสนอขึ้นมาจากสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) ไม่ว่าจะเป็น พระราชบัญญัติ, ร่างพระราชกำหนด, ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี, และร่างพระราชบัญญัติอื่นที่เกี่ยวข้อง

อำนาจควบคุมการบริหารราชการ

แม้ว่าการบริหารราชการแผ่นดินจะไม่ใช่หน้าที่หลักของวุฒิสภา แต่วุฒิสภาก็มีส่วนเกี่ยวข้องสำคัญกับกลไกนี้กล่าวคือ หนึ่ง สว.สามารถตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีในเรื่องเกี่ยวกับงานที่มีการประชุมกับวุฒิสภาได้ สองการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งจะเปิดอภิปรายได้ใน 3 ประเด็นคือ อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล, อภิปรายไม่ไว้วางใจนโยบายการบริหารราชการแผ่นดิน, อภิปรายทั่วไป

อำนาจในการเห็นชอบ

การบริหารราชการแผ่นดิน บางครั้งอาจจะต้องมีประเด็นให้หารือกัน ซึ่ง วุฒิสภา ก็สามารถให้ความเห็นชอบเรื่องสำคัญมากได้ เช่น การให้ความเห็นเรื่องการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หรือ การรับทราบข้อแก้ไขเพิ่มเติมของกฎมณเฑียรบาล เป็นต้น หรือบางกรณี สภาล่าง (ส.ส.) ไม่มีหรือถูกยุบ วุฒิสภา ก็จะเข้ามาให้ความเห็นแทนเพื่อให้กิจการเดินหน้าต่อไป

อำนาจในการเลือก และแต่งตั้ง

วุฒิสภา มีอำนาจสำคัญอีกหนึ่งอย่างนั่นคืออำนาจในการเลือก และแต่งตั้ง หรือ ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการแต่งตั้งบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งขององค์กรต่างๆของฝ่ายตุลาการ และ กรรมการในองค์กรอิสระ ไม่ว่าจะเป็น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ, ประธานศาลปกครองสูงสุด, คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) , ผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ปปช.) เป็นต้น

อำนาจในการถอดถอน

ไม่เพียงแค่แต่งตั้งเท่านั้น วุฒิสภา ยังมีอำนาจในการถอดถอนอีกด้วย  หากพวกเค้าพบว่ามีบุคลคลที่มีพฤติการณ์ส่อร่ำรวยมากกว่าปกติ หรือ ส่อแววทุจริตต่อหน้าที่และประเทศชาติ วุฒิสภาสามารถยื่นถอดถอนได้ ซึ่งตำแหน่งที่อยู่ภายใต้อำนาจถอดถอนนี้ได้แก่ นายกรัฐมนตรี, สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.), สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.), ประธานศาลฎีกา, ประธานศาลรัฐธรรมนูญ, อัยการสูงสุด, กรรมการในองค์กรอิสระ, ผู้พิพากษา, อัยการ เป็นต้น

ถือว่า วุฒิสภา หรือ สภาสูงนั้นมีอำนาจหน้าที่สำคัญทั้งทางด้านกฎหมาย และอำนาจอื่นเพื่อถ่วงดุลฝ่ายอื่นอีกด้วย ทั้งการเสนอชื่อ แต่งตั้ง และถอดถอน วุฒิสภา สามารถทำได้ทั้งนั้น จึงไม่แปลกที่ตำแหน่งวุฒิสภาจะมีการแข่งขันกันสูงมากเพื่อเข้าไปทำหน้าที่ตรงนี้ให้ได้