วุฒิสภาไทย กับเรื่องราวอันน่าสนใจแต่หนหลัง

Thai-Senate

วุฒิสภา หรือ สภาสูง จัดว่าเป็นกลไกลสำคัญเฟืองหนึ่งในการขับเคลื่อนงานด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน และการถ่วงดุลอำนาจของการเมืองไม่ให้มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้รับมากเกินไป ซึ่งวุฒิสภาเองก็มีประวัติความเป็นมานานมาก น่าเสียดายที่หลายคนไม่รู้จัก และมองข้ามไปมักจะนึกถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.)มากกว่า เราเลยขอหยิบเรื่องราวอันน่าสนใจของวุฒิสภามาเล่ากัน

แนวคิดในการตั้งวุฒิสภา

การตั้งวุฒิสภาขึ้นมานั้น เรามาทำความเข้าใจแนวคิดกันก่อนว่ามันเกิดมาได้อย่างไร จริงแล้วมีแนวคิดหลายประเด็นในการตั้งวุฒิสภาขึ้นมา แนวคิดแรกเรารับวัฒนธรรมการปกครองมาจากต่างประเทศ ซึ่งต่างประเทศมีวุฒิสภาอยู่แล้วเราเลยหยิบเรื่องนี้มาประกอบด้วย อีกแนวคิดหนึ่งมาจากเหตุผลของนายปรีดี พนมยงค์ กล่าวแล้วสรุปได้ว่าประเทศไทยกำลังเริ่มต้นในการปกครองแบบประชาธิปไตย ซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่วนใหญ่มาจากการเลือกตั้งแล้วยังอาจจะมีข้อกำหนด ข้อปฏิบัติที่ยังไม่เข้าใจ หรือเข้าใจคลาดเคลื่อนอยู่ เลยต้องมีสภาอีกชุดหนึ่งเพื่อทำหน้าที่เป็นดั่งพี่เลี้ยง ให้คำปรึกษาในการดำเนินกิจการการเมืองให้เดินไปได้

ชื่อเดิมของ วุฒิสภา

เดิมที วุฒิสภา นั้นไม่ได้มีชื่อนี้ คำว่า วุฒิสภา เพิ่งจะถูกบัญญัติขึ้นมาหลังจากได้มีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 แต่ก่อนหน้านั้น วุฒิสภา จะถูกเรียกกว่า พฤฒสภา ซึ่งเป็นข้าราชการที่พระมหากษัตริย์แต่งตั้งขึ้นมาเพื่อให้คำปรึกษา และแสดงข้อคิดเห็นเกี่ยวกับข้อราชการ

จำนวนสมาชิกวุฒิสภา

หากนับตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 บอกว่าจำนวนของวุฒิสภาในช่วงเริ่มแรกจะมีทั้งหมด 100 คน ซึ่งได้มาจากพระมหากษัตริย์แต่งตั้ง โดยจำนวนของวุฒิสภาจะมีแตกต่างกันไปตามรัฐธรรมนูญอย่างเช่น รัฐธรรมนูญฉบับ พุทธศักราช 2511 จะไม่มีจำนวนแน่นอนโดยกำหนดไว้ว่าเป็นจำนวนสามในสี่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  จนกระทั่งรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2534 ได้กลับมากำหนดจำนวนวุฒิสภาอีกครั้งเป็น 270 คน , รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 มีจำนวน 200 คน และ ฉบับปี 2550 มีจำนวน 150 คน

การปรับเปลี่ยนที่มาของ วุฒิสภา

วุฒิสภา มาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งหนึ่ง นั่นคือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 ฉบับนี้ได้มีการปรับเปลี่ยนที่มาของวุฒิสภา จากเดิมทีพระมหากษัตริย์เป็นผู้แต่งตั้งแล้วให้ ประธานองคมนตรี เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เปลี่ยนให้ นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแทน ที่ต้องเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการว่า พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง วุฒิสภามีการเปลี่ยนแปลงที่มาอีกครั้งใน รัฐธรรมนูญ ฉบับพุทธศักราช 2540 กำหนดให้ วุฒิสภา จำนวน 200 คนมาจากการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการเลือกตั้งวุฒิสภา

วุฒิสภาได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบที่มา อำนาจ และหน้าที่ไปตามยุคสมัย และบริบทของการเมืองในสมัยนั้น แม้ว่าจะอยู่หลังฉาก แต่วุฒิสภาก็ถือว่าเป็นฟันเฟืองสำคัญของระบบการเมืองไทยอยู่ตลอด